วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่

    ขนาดและที่ตั้ง

   วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ :  ตั้งอยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 6 - 10 ถนนเหนือคลอง – เขาพนม    
   ห่างจากอำเภอเหนือคลองประมาณ 8 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดกระบี่ประมาณ 25 กิโลเมตร
   ทิศเหนือ  :   ติดกับเขตอำเภอเขาพนม
   ทิศใต้   :      ติดกับหมู่ 3 ต. ห้วยยูง อ. เหนือคลอง จ. กระบี่
   ทิศตะวันออก  :   ติดกับถนนสายเหนือคลอง – เขาพนม
   ทิศตะวันตก  :    ติดกับหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 1 ต. ห้วยยูง อ. เหนือคลอง จ. กระบี่

  • ประวัติวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่

          วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่  เดิมชื่อวิทยาลัยเกษตรกรรมกระบี่ เป็นสถานศึกษาสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 5 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่จะจัดตั้งสถานศึกษาเกษตรกรรมขึ้นให้ครบทุกจังหวัด  เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี พ.ศ. 2522 เป็นปีชาวไร่ชาวนา  และเพื่อขยายการศึกษาทางด้านอาชีวเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ผลิตกำลังคนระดับกลางด้านเกษตรกรรม  ให้มีความรู้ความสามารถในวิชาการเกษตร  จังหวัดกระบี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินให้โดยตัวแทนกรมอาชีวศึกษาได้ทำการสำรวจพื้นที่และหาข้อมูลต่าง ๆ  และได้ตกลงใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ทุ่งควนยาว หมู่ 3 และหมู่ 6 ที่ตำบลห้วยยูง  อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่   ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่และอำเภอเมืองเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร   มีพื้นที่ทั้งสิ้น  1,708 ไร่   1 งาน 47 ตารางวา ลักษณะพื้นที่มีป่าไม้ขนาดเล็กอยู่ทั่วไป และพื้นที่มีทั้งเป็นติดกัน ที่ราบและเป็นเนินสูงลาดเท  
         วิทยาลัยได้เปิดทำการสอนในปีการศึกษา 2525 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.เกษตรกรรม) 
    มีจำนวนบุคลากรคือ ครู-อาจารย์ 10 คน   ลูกจ้างประจำและชั่วคราว 5 คน  นักเรียน 120 คน
    พ.ศ. 2527  เปิดสอนหลักสูตรพิเศษ   (ฝึกอบรมเกษตรกรรมระยะสั้นและเคลื่อนที่) 
    โดย อบรมเกษตรกรในวิทยาลัย และออกไปอบรมตามหมู่บ้าน รุ่นละ 3-5 วัน ปีงบประมาณ ละ700 คน
    พ.ศ. 2528   เปิดสอนหลักสูตร ปวส.เกษตรกรรม  2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพืชศาสตร์และสัตวศาสตร์
    พ.ศ. 2538  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ในกรมอาชีวศึกษาและได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ในวิทยาลัยเกษตรกรรมกระบี่ มีชื่อว่า “ วิทยาลัยชุมชนห้วยยูง” โดยเปิดสอนในประเภทวิชาต่าง ๆ เช่น ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมและบริหารธุรกิจในหลักสูตร ปวช.และ ปวส.
    พ.ศ. 2539  กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต โดยรับผู้จบการศึกษาชั้น ม.3  จากโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เข้าเรียนหลักสูตร  ปวช.สาขาเกษตรศาสตร์  โดยยกเว้นค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลา  3  ปีที่เรียน      และให้เป็นนักเรียนประจำได้รับเงินอุดหนุน 5,000 บาทต่อปี
    วันที่  26  กันยายน  2539  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ  เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี  วิทยาลัยจึงใช้ชื่อว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่  ชื่อย่อคือ วษท.กบ. และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Krabi College of Agriculture and Technology ชื่อย่อคือ  K-CAT